ศาลอาญาจับมือ 4 หน่วยงาน จัดกิจกรรมทำงานแทนค่าปรับ ถวายเป็นพระราชกุศล 12 ส.ค. ช่วยลดงบคุมขัง ให้คนจนได้รับโอกาส ทำสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับวันละ 500 บาท บริจาคโลหิตคิดโปรให้แทน 3 วัน

ศาลอาญาจับมือ 4 หน่วยงาน จัดกิจกรรมทำงานแทนค่าปรับ ถวายเป็นพระราชกุศล 12 ส.ค.

ช่วยลดงบคุมขัง ให้คนจนได้รับโอกาส ทำสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับวันละ 500 บาท บริจาคโลหิตคิดโปรให้แทน 3 วัน

 

 

เมื่อเวลา 8.30 น. วันที่ 12 ส.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญาร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) จัดกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 12 สิงหาคม โดยได้รับเกียรติจาก นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  , นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม , นางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ , น.ส.พนิตนาฏ ธนาอภินันทน์ รองผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม และ พล.ต.ต.พัฒนา เพศยนาวิน ผบก.น. 2

นายชูชัย กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การจัดงานวันนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสววันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์แห่งปวงชนชาวไทย ซึงปัจจุบันการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอาญา ศาลจะพิจารณากำหนดโทษตามความร้ายแรงพฤติการณ์แห่งคดี ในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรง และศาลลงโทษปรับ จำเลยกลุ่มนี้มีลักษณะที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม การให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี ด้วยการให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แทนการกักขัง แทนค่าปรับ ถือได้ว่าเป็นการให้โอกาสแก่ผู้พลาดพลั้งกระทำความผิดให้ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ก่อให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะและเป็นการให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี ไม่ต้องมีมลทินทางคดีติดตัว และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่น ต่อไป

 

ต่อมา นายชูชัย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ประธานศาลฎีกามีนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการเซ็น MOU กับทั้ง 4 หน่วยงาน ทำให้เป็นรูปธรรม โครงการนี้มีประโยชน์ในการลดงบประมาณในการคุมขังลง ทำให้คนไม่ต้องถูกกักขังโดยไม่จำเป็น คนจนที่ทำผิดได้รับโอกาสในการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ตั้งแต่จัดตั้งโครงการมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ จำนวน 29 คดี ศาลอาญาเป็นศาลนำร่อง น่าจะมีศาลอื่นที่เห็นเราเป็นศาลต้นแบบเอาไปทำ ส่วนผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ส่วนใหญ่เป็นคดีเล็กน้อย เช่น คดีลักทรัพย์

“ปกติคนลักทรัพย์เนี่ย พื้นฐานคือไม่มีเงินอยู่แล้ว เล็กๆ น้อยๆ แต่เดิมเราจะรอการลงโทษ โดยลงโทษปรับ ก็จะไม่มีเงินเสียค่าปรับ ก็จะต้องถูกกักขัง โครงการนี้คือมาช่วยเหลือเขาไม่ให้ต้องถูกกักขัง แทนที่จะถูกกักขังก็มาทำงานบริการสังคม หรือทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ก็คิดให้อัตราวันละ 500 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของงาน เช่น ไปดูแลผู้ชรา คนพิการ 2 ชั่วโมง เราก็คิดให้ 1 วัน หรืองานซ่อมแอร์ ซ่อมไฟฟ้า 3 ชั่วโมง คิดให้ 1 วัน งานทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ 4 ชั่วโมง คิดให้ 1 วัน บริจาคโลหิต ถือว่าเป็นงานบริการสังคมเหมือนกัน อันนี้คิดให้ 3 วันเลย” นายชูชัย กล่าว

ภายหลังพิธีเปิดเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมโครงการได้แยกย้ายกันทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ในบริเวณศาลอาญา โดยการจัดกิจกรรมในวันนี้ มีผู้เข้ากิจกรรมทั้งสิ้น 241 คน แบ่งเป็นผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 5 คน กรุงเทพมหานคร จำนวน 78 คน กรมคุมประพฤติ จำนวน 22 คน และบช.น. 16 คน และผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 120 คน

สำหรับกิจกรรมการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ในวันนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้ด้านการปฏิบัติงานตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ตามหลักสูตรรุกขกรรม งานจราจร การทำความสะอาดบริเวณศาลและที่สาธารณะ เป็นต้น

 

 

 

 

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
“รัฐบาล” เปิดงานKick Off กิจกรรมแสดงพลังทำความดีกลุ่มผู้ต้องขัง เฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 6 รอบอย่างยิ่งใหญ่
1 Minute
โรงพยาบาล
ผู้บริหารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ร่วมแสดงความยินดี เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 22 ปี โรงพยาบาลสิรินธร 
1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
‘บิ๊กหยิม’ นำคณะกรรมการและสมาชิก ร่วมโครงการ “เพิ่มแต้มบุญ​ ปันน้ำใจ กับชมรมสายสัมพันธ์ศุลกากร” มอบสิ่งของให้หลายหน่วยงาน​ ที่ประจวบคีรีขันธ์
1 Minute
สังคม
นายกสมาคมสมาชิกรัฐสภาไทย นายอนันตชัย คุณานันทกุลและครอบครัว ตักบารตแจกทานข้าวสารอาหารแห้งแก่ประชาชน ทำบุญวันคล้ายวันเกิดกว่า1,000 ชุด หน้าหมู่บ้านศรีเจริญวิลล่า เทพารักษ์