“ทุกห้วงหัวใจ…สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ”

“ทุกห้วงหัวใจ…สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ”

 

 

“ เศรษฐกิจของประเทศไทยเรา ขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่  ฉะนั้นท่านต้องระลึกถึงภาระอันสำคัญยิ่งนี้อยู่เสมอ และช่วยกันฟื้นฟูเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปโดยเร็ว”   พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกๆ ด้าน ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและการพัฒนาการเกษตร เป็นปัญหาหนึ่งที่พระองค์ทรงสนพระทัย และ ทรงเป็นผู้ริเริ่มในการพัฒนาด้านการเกษตรต่างๆ

การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน มีรากฐานมาจากพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระองค์ท่านที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะขจัดความทุกข์ยากของเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยพระองค์ได้ทรงริเริ่มโครงการจัดและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ หุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี 2507 ขึ้น ซึ่งมีการจัดที่ดิน พัฒนาที่ดินและพัฒนาสหกรณ์เข้าด้วยกัน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้มีกลุ่มชาวไร่ชาวนา นักศึกษา นักการเมือง เดินขบวนเรียกร้องหลายครั้ง สาเหตุสำคัญมาจาก ปัญหาที่ดินทำกินและการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน รัฐบาลในสมัย ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518

ทันทีที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้บังคับ พระองค์ทรงให้การสนับสนุนงานปฏิรูปที่ดิน โดยพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่ดิน ในประเทศไทย ในปี 2518 เนื้อที่ 44,369 -0-87 ไร่ ใน 5 จังหวัด คือ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ฉะเชิงเทรา และ นครนายก  พร้อมกับพระราชทานพระบรมราโชบายอันเป็นประโยชน์กับงานปฏิรูปที่ดิน

“ให้เกษตรกรผู้เช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่เดิม ได้ทำกินในที่นั้นต่อไปชั่วลูกหลานตราบที่ยังยึดถืออาชีพเกษตรกรรมอยู่ แต่จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยรัฐจัดที่ดิน พัฒนาที่ดิน ให้สอดคล้องกับสภาพเดิมของท้องถิ่น และ รวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งสหกรณ์”

พระบรมราโชบายดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดถึงพระราชประสงค์ที่จะคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เป็นสมบัติของลูกหลานที่สืบทอดอาชีพเกษตรกรตลอดไป โดยให้มีการจัดการให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์เพื่อดำเนินประโยชน์ให้แก่สมาชิกได้กว้างขวาง

นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชทานโฉนดที่ดินให้กับเกษตรกรด้วยพระองค์เองนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้

เรื่องราวที่เตือนสติที่เกี่ยวกับที่ดิน ส.ป.ก.ได้หวนรำลึกถึงจุดเริ่มต้นของงานปฏิรูปที่ดิน หวนรำลึกถึงพระบรมราโชบายของพระองค์ท่าน ส.ป.ก.สร้างขึ้นมาเพื่อกระจายสิทธิถือครองที่ดินให้เกษตรกรไม่ได้สร้างมาเพื่อให้นายทุนถือครองที่ดิน
ที่สำคัญที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งประเทศ 40 ล้านไร่นี้ เป็นผืนดินเกษตรกรรมของรัฐ ผืนที่ใหญ่ที่สุด เป็นแหล่งที่มั่นสุดท้ายในการใช้เพื่อเกษตรกรรม…..