เกษตรกรทั่วประเทศลั่น แต่งชุดดำขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล 26 พ.ย. ก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุมในวันที่ 27 พ.ย.
ด้านผู้ประกอบการสารเคมีทางการเกษตรระบุ รมช. มนัญญาไม่เข้าใจข้อจำกัดเรื่องการส่งสารเคมีคืนบริษัทว่า เป็นไปไม่ได้
เนื่องจากผู้นำเข้าได้ปรับสูตรให้เหมาะสมกับการใช้ในประเทศ โดยขึ้นทะเบียนถูกต้องต่อกรมวิชาการเกษตร ไม่ใช่เป็นผสมมั่ว ไร้การควบคุมอย่างที่กล่าวหา
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า เกษตรกรที่เดือดร้อนจากการยกเลิกใช้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสทั่วประเทศพร้อมใจกันแต่งชุดดำเพื่อเข้าร้องเรียนถึงความเดือดร้อนต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ โดยเลื่อนจากเดิมที่นัดหมายกันในวันที่ 28 พฤศจิกายน ทั้งนี้เพื่อให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาให้ก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุมในวันที่ 27 พฤศจิกายน
สำหรับการยื่นข้อร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีครั้งนี้จะนำข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรรมเรื่อง การยกเลิกใช้ 3 สารที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรฯ ยกร่างประกาศและเปิดรับฟังความคิดเห็น ล่าสุดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกถึงร้อยละ 75 จากผู้แสดงความคิดเห็นประมาณ 40,000 คนซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาประกอบก่อนลงนามยกเลิกเพราะผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้จำนวนมาก
ด้านสมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมฯ นวัตกรรมเกษตรไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจออกแถลงการร่วมหลังประชุมกับ น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าสมาคมฯ ไม่เห็นด้วยต่อการแบนสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากตามที่ได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จากการออกความเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบนร้อยละ 58 และเห็นด้วยร้อยละ 42 ส่วนการรวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นผ่านแบบสอบถามของเกษตรกรที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ มีผู้ไม่เห็นด้วยต่อการแบนคิดเป็น ร้อยละ70 นอกจากนี้ไม่มีมาตรการรองรับการยกเลิกหรือชี้แจงให้ผู้มีผลกระทบรับทราบเพื่อเตรียมการแต่อย่างใด รวมถึงการกำหนดให้ผู้เสียหายรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการทำลายสารเหล่านี้เองนั้น ถือเป็นความอยุติธรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีมติให้แบนสารดังกล่าว โดยมีผลทางกฎหมายในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ สารทั้ง 3 ชนิดจะกลายเป็นสารที่ผิดกฎหมายทันที ดังนั้นเมื่อภาครัฐมีมติให้แบนจึงหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายอยู่จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย รัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการชดเชยความเสียหายทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการเก็บส่งรัฐ ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และค่าใช้จ่ายในการทำลายจึงไม่ควรผลักภาระนี้ให้เอกชนและเกษตรกรรับผิดชอบเอง
ทั้งนี้สมาชิกของทั้ง 3 สมาคมปฏิบัติตามหลักกฎหมายอย่างดีเสมอมา ตั้งแต่ที่กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการลดปริมาณการนำเข้า ฝึกอบรมผู้ใช้ ผู้ขาย ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามสากล ดังนั้นการจัดการสินค้าทั้งระบบซึ่งมีปริมาณมากกว่า 3๐,๐๐๐ ตัน จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการจัดการสินค้าโดยเทียบเคียงกับที่ผ่านมาประมาณ 2 ปี ซึงจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในฤดูเพาะปลูกหลักและลดความเสียหายสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรม ระยะเวลาที่กำหนดให้เก็บผลิตภัณฑ์นำส่งรัฐภายใน 15 วันนั้นเป็นระยะเวลาที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง การสืบและพิสูจน์สตอกสินค้าโดยปกติแล้วใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 6 เดือน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงระยะเวลาในการเรียกเก็บคืนและนำส่งเพื่อทำลาย
ส่วนที่รมช. มนัญญาจะให้ส่งออกกลับคืนประเทศต้นทางหรือประเทศที่ 3 นั้นเป็นไปไม่ได้เพราะเมื่อนำเข้ามาแล้วมีการนำมาปรับสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับปัญหาของวัชพืชและศัตรูพืชในประเทศ ไม่ได้เป็นการผสมสารอื่นอย่างไรการควบคุมและไม่ตรงประสิทธิภาพตามที่รมช. มนัญญากล่าวหา ยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อปรับให้เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งถือเป็นของผิดกฎหมายไทย จึงไม่มีประเทศใดรับให้นำเข้าประเทศได้