“ประภัตร” กำชับ “มกอช.” ต้องเป็นผู้นำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารระดับโลก สร้างความเชื่อมั่น อาหารปลอดภัย อย่าน้อยหน้า อย. เร่งออกมาตรฐานตัวQ ให้ได้อย่างน้อย 20 ใบอนุญาต ต่อเดือน พร้อมเร่งรัดศึกษา มาตรฐานพืชเศรษกิจใหม่ “กัญชา” ให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น

 

 

 

“ประภัตร” กำชับ “มกอช.” ต้องเป็นผู้นำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารระดับโลก สร้างความเชื่อมั่น อาหารปลอดภัย อย่าน้อยหน้า อย.

เร่งออกมาตรฐานตัวQ ให้ได้อย่างน้อย 20 ใบอนุญาต ต่อเดือน พร้อมเร่งรัดศึกษา มาตรฐานพืชเศรษกิจใหม่ “กัญชา” ให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น

 

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงาน “วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ครบรอบ 17 ปี” ว่า มกอช. เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการเกษตรตามนโยบายหลัก 12 ด้านที่รัฐบาลแถลงไว้ โดยในปี 2563 เป็นปีแห่งการยกระดับคน และการบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0 จะมุ่งยกระดับด้านระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย สนับสนุนตลาดนำการผลิต มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตลาดออนไลน์ DGT Farm และระบบตรวจสอบย้อนกลับ QR Trace รวมทั้งเป็นปีที่กระทรวงเกษตรฯต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ก้าวทันการแข่งขันทางการค้า เศรษฐกิจ และกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรตามยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี

มกอช. เท่าที่ทราบวันนี้ มกอช. ถือเป็นหน่วยงานที่ ค่อนข้างไม่มีคนรู้จักเท่ากับ องค์การอาหารและยา ทั้งที่ เป็นหน่วยงานที่ ดูแลเรื่องอาหาร ปลอดภัยทั้งหมด โดยเฉพาะอาหาร ที่มาจากสินค้าเกษตรฯ ที่เป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย ซึ่งจากนี้ไป เจ้าหน้าที่ของ มกอช. จะต้องสร้างความตระหนัก และ สร้างความภูมิใจในองค์กร​ของตนเองให้มีความสำคัญมากขึ้น โดยต้องทำความเข้าใจให้กับเกษตรกร และประชาชน ได้ตระหนักถึงมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ ที่มีสัญลักษณ์​ตัวQ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยต้องเป็นผู้นำให้ ประชาชน รู้และเข้าใจว่า สินค้าที่มีการจำหน่ายในท้องตลาด ที่มีสัญลักษณ์ตัวQ คือสินค้าที่ปลอดภัย

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นหน่วยงานเล็กแต่มีความสำคัญและมีผลงานที่โดดเด่น จึงต้องพัฒนาให้เป็นหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ปัจจุบันมีการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรแล้ว 322 ฉบับ ซึ่งในวันนี้ได้มอบนโยบายให้มีการเพิ่มจำนวนมาตรฐานให้มากขึ้น ตั้งเป้าทุกเดือนต้องมีมาตรฐาน Q อย่างน้อย 10-20 เรื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ แนวทางการส่งเสริมสัญลักษณ์ Q ของ “มกอช.จะต้องวางระบบออกมาตรฐานให้กับสินค้าเกษตรทุกชนิด อาทิ ปศุสัตว์ และพืช เป็นต้น เพื่อให้คนไทยได้ใช้สินค้า Q ที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล คือ กัญชาที่ส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และปลอดภัย โดยได้มอบหมายให้ มกอช. ได้ไปศึกษาและวางแนวทางต่อไป” นายประภัตร กล่าว

“จากนี้ไป แม้ มกอช. จะดูตัวเล็กแต่เราต้องทำตัวเป็นยักษ์เป็นผู้นำให้ชาวบ้านเค้าเห็นว่า เมื่อเราไปตรวจสอบและออกใบรับรองให้นั้นคือ สินค้าที่มันปลอดภัยเราต้องภูมิใจ ในองค์กรของเราไม่ใช่มองว่าเราองค์กรเราเล็กไม่สำคัญ เราต้องทำตัวเป็นผู้นำต้อง ประชาสัมพันธ์ให้เค้ารู้ว่าเราสำคัญอย่างไร ไม่ใช่ ทำตัว เหมือนตัวเองด้อยค่า ทั้งที่ตนเองเป็นหน่วนงานที่ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตของคนทั้ง66ล้านคน เราควรยิ่งใหญ่ว่า กว่า อย. ด้วยซ้ำไป จากนี้ไป ในยุคสมัยผมจะทำให้ มกอช. ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ มองว่าเป็นกรมเล็ก ใครก็ ไม่อยากมา เราต้องทำให้เค้าทราบว่าเรายิ่งใหญ่แค่ไหน สินค้าปลอดภัยต้องมาจากเราให้ใบรับรอง ต้องทำให้เด่นชัด ให้เค้าเห็น ในบรรจุภัณฑ์ ตัวQ ต้องมองเห็น แม้กระทั่งกัญชาที่เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมตอนนี้ มกอช. ต้องไปดู ว่า จะออกมาตรฐานอย่างไร ให้เค้า ต้องมองไปข้างหน้า ด้วย” นายประภัตรกล่าว

 

ด้านนางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวถึงผลงานของ มกอช.ในรอบ 17 ปีว่า มกอช.มีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยงานกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ (National Standardization Body: NSB) เพื่อให้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นมีความเหมาะสม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ปัจจุบันมีการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรแล้ว 322 ฉบับ แบ่งเป็น มาตรฐานสมัคร 316 เรื่อง (พืช เกษตรกรอินทรีย์ ปศุสัตว์ ประมง และอื่นๆ) และมาตรฐานบังคับ 6 เรื่อง นอกจากนี้ ด้านการส่งเสริมมาตรฐานได้มีการเชื่อมโยงการผลิต-การตลาดสินค้าQ ในตลาด 3 ประเภทแบ่งเป็น 1.ตรวจรับรองแหล่งจำหน่ายสินค้ามาตรฐานโครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Q (Q restaurant) 3,200 สาขา Q Market 893 แผง Q Modern Trade 697 แผง 2.ระบบ QR Trace on Cloud 1,048 ราย3.ตลาดDGTFarm.com 1,739 รายแบ่งเป็นผู้ขาย 818 รายและผู้ซื้อ921 ราย

นอกจากนี้ยังได้ให้การรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ จำนวน 282 แห่ง พัฒนาต้นแบบโรงสีข้าว/โรงคัดบรรจุ GMP จำนวน 5 แห่ง และพัฒนาระบบการรับรองแบบกลุ่มสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 20 กลุ่มใน 8 จังหวัด ส่วนด้านการดำเนินการตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่นั้นได้มีการดำเนินการในพื้นที่ 19 จังหวัด โดยให้ความรู้ด้านการผลิตตามมาตรฐาน GAP จำนวน 6 เรื่อง คือ ถั่วฝักยาว ถั่วลิสงหลังนา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดเมล็ดแห้ง GAP พืชอาหารและจิ้งหรีด แก่เกษตรกรรวมจำนวน 952 ราย และยังได้พัฒนาต้นแบบโรงงานแปรรูปมาตรฐาน 9 แห่ง(โรงสีข้าว 2แห่ง โรงคัดบรรจุผักผลไม้สด 6 แห่ง และโรงรวบรวมผักผลไม้สด 1แห่งอีกด้วย

“ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก ในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร 1.12 ล้านบาท ซึ่ง มกอช. ได้มีการบูรณาการร่วมกับกรมต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ตาม พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยอาหารอย่างเบ็ดเสร็จตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ (Food chain) เพื่อให้ได้สินค้าที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้รับการยอมรับและมียอดส่งออกไปตลาดโลกขยายตัวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยรวมทั้งหน่วยรับรองระบบงานของ มกอช. ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นอีกด้วย” นางสาวจูอะดี กล่าว

นางสาวจูอะดี กล่าวเพิ่มเติมว่า มกอช.ได้เร่งขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์มาตรฐานสินค้าเกษตรในเวทีโลก และแสวงหาความร่วมมือคู่ค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยการเข้าร่วมงาน Natural Product Expo West (NPEW) ซึ่งเป็นงานสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีโอกาสเติบโตทางการตลาดสูงที่สุด ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ค้าของไทยหลายราย รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานด่านการค้าของมลรัฐลอสแองเจลิส (LA Port) ที่เป็นท่าเทียบสินค้าใหญ่ที่สุดของทั้งฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และของภูมิภาคอเมริกาซึ่ง LA Port ให้ความสนใจและเตรียมพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า-มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชกับท่าเรือของไทย โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมและระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ที่ผู้ประกอบการของไทยในปัจจุบันใช้เป็นท่าส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก