ชลประทานที่ 6 หยุดส่งน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อการเกษตรช่วงปลายฤดูฝนปี 62 แล้ว เหตุน้ำในอ่างเหลือน้อย เร่งประชุมร่วมกับกฟผ. กลุ่มผู้ใช้น้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการบริหารจัดการน้ำในสภาวะน้ำน้อย มั่นใจมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคจนถึงฤดูแล้งหน้า

ชลประทานที่ 6 หยุดส่งน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อการเกษตรช่วงปลายฤดูฝนปี 62 แล้ว เหตุน้ำในอ่างเหลือน้อย เร่งประชุมร่วมกับกฟผ. กลุ่มผู้ใช้น้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วางมาตรการบริหารจัดการน้ำในสภาวะน้ำน้อย มั่นใจมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคจนถึงฤดูแล้งหน้า

 

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์สะสมเพียง 371 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งน้อยกว่าปี 2536 ซึ่งมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 567 ล้าน ลบ.ม. โดยปีนี้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมา 53 ปี ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียง 631 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศวันละ 300,000 ลบ.ม. จึงเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนอุบลรัตน์ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 3 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ใช้น้ำมารับทราบสถานการณ์น้ำ พร้อมร่วมกันวางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์

 

ทั้งนี้จากการประเมินแผนความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ในปลายฤดูฝนปี 62 และฤดูแล้งปี 62/63 พบว่า มีความต้องการใช้น้ำทั้งการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ การประปา และใช้ในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 189 ล้าน ลบ.ม. แต่เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำต้นทุนที่ใช้การได้อยู่เพียง 50 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้นซึ่งเพียงพอเฉพาะการอุปโภค-บริโภคและการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้ประกาศแจ้งกำหนดการหยุดส่งน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูฝนปี 2562 สำหรับฤดูแล้งปี 2562/63 จะส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ตลอดลำน้ำพอง และแม่น้ำชีถึงเขื่อนระบายน้ำวังยาง จังหวัดมหาสารคาม

นายศักดิ์ศิริกล่าวถึง ได้แจ้งให้ทุกภาคส่วนสำรวจความต้องการใช้น้ำดิบเพื่อผลิตประปาหมู่บ้าน และแหล่งน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่ สำหรับภาคการเกษตรนั้นขอความร่วมมือให้เกษตรกรสำรองน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติและปลูกพืชใช้น้ำน้อยตลอดสองฝั่งลำน้ำพองและแม่น้ำชี ด้านการประมงได้ประสานประมงจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 เฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำในลำน้ำพองและแม่น้ำชีอย่างใกล้ชิดเนื่องจากปริมาณน้ำที่น้อยนั้นอาจให้คุณภาพน้ำในลำน้ำพองต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะใช้เลี้ยงปลากระชัง สำหรับภาคอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือให้วางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัดและจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ รวมถึงขอความร่วมมือจากท้องถิ่นให้เก็บน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำขนาดเล็กให้มากที่สุด

“เขื่อนอุบลรัตน์จำเป็นต้องสำรองน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงฤดูแล้ง” นายศักดิ์ศิริกล่าว