กรมวิชาการเกษตรตามหา​“พันธุ์กล้วยโบราณ 12 ชนิด” สนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

กรมวิชาการเกษตรตามหา​พันธุ์กล้วยโบราณ 12 ชนิด

สนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

กรมวิชาการเกษตรตามหา​พันธุ์กล้วยโบราณ 12 ชนิด สนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ล่าสุดพบแล้ว 6 ชนิดในพื้นที่​ จ.นราธิวาส​ และกล้วยพันธุ์หายากอื่นๆ​ อีก 30 ชนิด พร้อมจัดทำแปลงรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองภาคใต้ตามพระราชดำริ​และอยู่ระหว่างจำแนกและตรวจวิเคราะห์ลายพิมพ์​DNA เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชแบบยั่งยืน 

  

นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่​ 8​ (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริขอให้รวบรวมพันธุ์กล้วยหายากตามรายชื่อพันธุ์กล้วยที่มีอยู่ในสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี​และตามหนังสือโบราณเมื่อปี 2468 ของจังหวัดยะลาที่ได้กล่าวถึงกล้วยชายแดนใต้ 12 พันธุ์มาไว้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ​ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย 1.ปีแซ กาปา (กล้วยตะเภา) 2.ปีแซ ซูซู (กล้วยนมสาว) 3.ปีแซ ยะลอ (กล้วยหอม) 4.ปีแซ กูกู กูดอ (กล้วยเล็บม้า) 5.ปีแซ ลือเมาะมานิ​ 6.ปีแซ กาลอ (กล้วยตานี) 7.ปีแซ อาปอ (กล้วยอะไร) 8.ปีแซ ยะรี บอยอ (กล้วยนิ้วจระเข้) 9.ปีแซ ตาปง (กล้วยขนม) 10.ปีแซ สะราโต๊ะ (กล้วยร้อยหวี) 11.ปีแซ สะรือเน๊ะ (กล้วยเตี้ย) และ​ 12.ปีแซ อาเนาะอาแย (กล้วยลูกไก่) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ท้องถิ่นและมีชื่อเป็นภาษามาลายู ทั้งนี้ พระราชดำรัสดังกล่าวมีขึ้นเมื่อครั้งทรงเสด็จติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหินจอก หมู่ 6 ตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 23 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา 

           

โดยความก้าวหน้าล่าสุด จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้สนองพระราชดำริโดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ดำเนินการสำรวจรวบรวมพันธุ์กล้วยโบราณที่หายากตามพระราชดำริตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ​ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงปรากฏว่าสามารถตามหาพบแล้ว​จำนวน 6 พันธุ์ ประกอบด้วย 1.ปีแซคา ป่า (กล้วยตะเภา ) 2.ปีแซซูซู (กล้วยนมสาว) 3.ปีแซยะลอ (กล้วยหอม) 4.ปีแซกาลอ (กล้วยตานี) 5.ปีแซละเมาะมานิ (กล้วยเล็บมือนาง) และ​6.ปีแซสะราโต็ะ (กล้วยร้อยหวี) โดยส่วนใหญ่จะมีชื่อท้องถิ่นเป็นภาษามาลายูและการค้นพบส่วนใหญ่พบใน​จ.นราธิวาส นอกจากนี้ระหว่างที่ตามหากล้วยพันธุ์หายาก 12 พันธุ์ กรมวิชาการเกษตรค้นพบสายพันธุ์อื่นๆ​ อีก 30 พันธุ์อีกด้วย โดยทั้งหมดได้ถูกรวบรวมจัดทำแปลงปลูกบนพื้นที่​2.1ไร่​ ขึ้นภายใต้โครงการรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองภาคใต้ตามพระราชดำริไว้ ณ งานวิชาการเกษตร ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาสและอยู่ระหว่างการจำแนกและจะทำการตรวจวิเคราะห์ลายพิมพ์ DNA เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลตามหลักวิชาการ

โครงการรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองภาคใต้ตามพระราชดำริ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์กล้วยหายากในพื้นที่และส่วนหนึ่งเพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนอีก 6 ชนิดที่ยังตามหาไม่พบกรมวิชาการเกษตรได้วางเป้าจะเร่งลงพื้นที่เพื่อสำรวจ รวบรวมพันธุ์กล้วยหายากตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ​ ให้ครบ 12 พันธุ์ เพื่อให้ทันต่อการถวายรายงานการดำเนินงานการรวบรวมพันธุ์กล้วยฯ​ เมื่อทรงเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริในปีหน้า ซึ่งปัจจุบันนอกจากพันธุ์กล้วยโบราณ 12 ชนิดที่ตามหาเพื่อสนองพระราชดำริแล้ว กรมวิชาการเกษตรยังได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากทุกชนิด อีกด้วย นายจิระ กล่าว

 

  ด้านนายโนรี อิสมะแอ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้เริ่มรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองในพื้นที่ใกล้เคียงเท่าที่จะสามารถหาได้ตั้งแต่ปี​60 โดยนำพันธุ์กล้วยพื้นเมืองที่รวบรวมได้มาอนุบาลไว้ในถุง ดำเนินการเตรียมแปลงปลูกพันธุ์กล้วย บริเวณพื้นที่งานวิชาการเกษตร ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส โดยทำการปรับพื้นที่ วางผังแปลง ทำการยกร่องแปลงตามผังแปลงที่กำหนด​ จำนวน 36 แปลงตามหลักวิชาการ​ เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์กล้วยดังกล่าวไม่หายสูญหายไปไหน 

 “อยากฝากไปถึงคนไทยให้ตระหนักถึงคุณค่าของกล้วยโบราณพันธุ์หายาก และช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชของไทยรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา เรียนรู้ ไม่ให้สูญหายไปไหน หากท่านใดมีพันธุ์กล้วยพื้นเมืองภาคใต้ที่นอกเหนือจากนี้ และประสงค์ที่จะให้นำมารวบรวมไว้ในโครงการนี้ติดต่อได้ที่หน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง หรือหากใครพบเห็นกล้วยพันธุ์โบราณหายากอีก 6 ชนิด​ ดังกล่าวในหมู่บ้านหรือชุมชนใด สามารถแจ้งมาได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส (ศวพ.นราธิวาส) โทร. 073-651-397 ” นายโนรี กล่าว

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.) จับมือกูรูด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน ชู “ไฟฟ้า” คู่ “การลดคาร์บอน” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ EEC
0 Minutes
กีฬา
มิเกล โรดริโก้ หั่นเองกับมือ 14 แข้งสุดท้าย “เทอดศักดิ์-ณรงค์ศักดิ์-กฤษณ์” นำทัพป้องกันแชมป์ฟุตซอลอาเซียน2024 ที่ เทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา 2-10 พ.ย.นี้ เข้าชมฟรี
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
Mr.หลิน​ จิ้น เจี๋ย รอง​ ปธ.บจก.หัวเซ​ิ้น เทรดดิ้ง เป็นประธานมอบรางวัลให้กับนักกีฬากอล์ฟ ในรายการ “กุ้ยโจว เหมาไถ มินิ กอล์ฟ ทัวร์นาเมนต์ ครั้งที่​ 5”
0 Minutes
โรงพยาบาล
ผู้บริหารของโรงแรม โฟร์ซีซั่น กรุงเทพฯ รุดมอบ เต้านมเทียม 150 ชิ้น มอบให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้งานเต้านมเทียม