“รมว.เกษตรฯชงแพ็คเก็ตยางใหญ่เกือบ8หมื่นล้านบาท อุ้มราคายางขึ้นทั้งระบบ เข้าครม.ประกันรายได้ราคายาง60บาท ทุ่มกว่า3.3หมื่นล้านบาท ดูดซับยางจากตลาดกว่า 1.15 ล้านตัน ปล่อยเงินกู้ให้เอกชน รับซื้อยางเข้าสต็อก -แปรรูป 4.5หมื่นล้านบาท ให้เกษตรกรสวนยางไร่ละ1หมื่นบาท ลดพื้นที่ปลูกยาง 4แสนไร่ ปล่อยกู้สถาบันเกษตรกร เข้าซื้อยางวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 7แสนตัน เอกชนขานรับรักษาเสถีรยภาพราคายางพารายั่งยืน”

“ รมว.เกษตรฯ”  ชงแพ็คเก็ตยางใหญ่เกือบ 8หมื่นล้านบาท อุ้มราคายางขึ้นทั้งระบบ เข้าครม.ประกันรายได้ราคายาง60บาท ทุ่มกว่า3.3หมื่นล้านบาท ดูดซับยางจากตลาดกว่า 1.15 ล้านตัน ปล่อยเงินกู้ให้เอกชน

รับซื้อยางเข้าสต็อก – แปรรูป 4.5หมื่นล้านบาท ให้เกษตรกรสวนยางไร่ละ1หมื่นบาท ลดพื้นที่ปลูกยาง 4แสนไร่ ปล่อยกู้สถาบันเกษตรกร เข้าซื้อยางวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 7แสนตัน

เอกชนขานรับรักษาเสถีรยภาพราคายางพารายั่งยืน

 

 

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้เชิญทุกภาคส่วนมาประชุมสรุปแผนการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพาราเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและลดผลกระทบให้แก่เกษตรกรเดือดร้อนราคายางพาราตกต่ำ เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการได้ต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 มี 1,129,330 ราย พื้นที่ 13,326,540 ไร่ กรอบวงเงินงบประมาณ 33,074,031,095 บาท เฉลี่ยผลผลิต 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน ได้ปริมาณผลผลิตรวม 267,000,000กิโลกรัม ขณะนี้แผนปฏิบัติการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมนำเสนอบอร์ดกยท. จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) แล้วเสนอครม. พิจารณาโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ กยท. กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้เป็นยางแห้ง 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – เดือนมีนาคม 2563 ราคายางที่ประกันรายได้กำหนดให้สำหรับยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 100%) 50.00 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังกำหนดให้เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการต้องปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นหรือเลี้ยงปศุสัตว์ร่วมในสวนยาง เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้อย่างความยั่งยืน สำหรับการจ่ายเงินจะโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย 2 เดือนจ่าย 1 ครั้ง

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กำลังเร่งประสานกับหน่วยราชการต่างๆ ในการทำข้อตกลงรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรเพื่อนำไปแปรรูปใช้ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ส่วนผู้ประกอบการที่มาร่วมประชุมวันนี้ ยินดีร่วมมือเพิ่มสต็อกยาง (ยางแห้ง) ซึ่งมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท เพื่อดูดซับยางออกจากระบบให้ได้ 11% ของผลผลิตยางแห้ง 350,000 ตัน โดยผู้ร่วมโครงการต้องมีสต็อกยางเพิ่มขึ้นมากกว่าสต็อกเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี รัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยอัตราไม่เกิน 3% รวมไม่เกิน 600 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึง กันยายน 2563 เงินกู้สำหรับขยายกำลังการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง 25,000 ล้านบาทซึ่งผู้ประกอบการต้องใช้ยางมากขึ้นอย่างน้อย 4 ตันต่อปี ต่อวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 3% จะทำให้การใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น 100,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดภาษีให้เพื่อเป็นแรงจูงใจ โดยผู้ประกอบการที่เพิ่มปริมาณการใช้ยางมากขึ้นกว่าปีก่อนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อยางวัตถุดิบไปลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากรได้ถึง 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2562

ส่วนผู้แทนสถาบันเกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำความเข้าใจถึงการบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดซึ่งจำเป็นต้องลดพื้นที่ปลูกยางลง 400,000 ไร่ โดยหากปรับพื้นที่ปลูกยางไปปลูกพืชอื่น ทำปศุสัตว์ หรือประมง รัฐบาลสนับสนุนไร่ละ 10,000 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2567 รวมถึงการขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นทุนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราไปอีกจนถึง 31 มีนาคม 2567 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ในการรวบรวมยางจากเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 700,000 ตันต่อปี ซึ่งหากทำได้ตามมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวนี้จะทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด

“จะลดการพึ่งพาตลาดกลางต่างประเทศลงเนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่บิดเบือนราคา ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลกควรมีตลาดกลางของตัวเองเป็น New Rubber Market กำหนดราคาล่วงหน้าในตลาดโลกเองได้ซึ่งจะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน” นายเฉลิมชัยกล่าว

ทางด้านตัวแทนผู้ประกอบการแปรรูปยางพารา กล่าวเสริมด้วยว่าพร้อมดำเนินการตามนโยบายของรมว.เกษตรฯ ที่จะเปิดตลาดยางพาราโลกหรือ ไทยคอม กำหนดราคายางโลกเอง และเห็นด้วยกับมาตรการยกระดับราคายางขึ้นทั้งระบบ ซึ่งสต็อกยางโลกหากจะล้นก็ไม่มากเฉลี่ยปีละ3-4แสนตัน ถ้าไทยดันเพิ่มการใช้ยางในหน่วยงานรัฐดูดซับยางออกจากตลาดได้ปีละ1ล้านตันแก้ปัญหายางล้นตลาดได้ จากผลผลิตยางปีละกว่า4-5ล้านตัน ทำให้ราคายางของไทยมีเสถีรยภาพมากขึ้น จะลดช่องว่างในการกดราคาเพื่อการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าลงได้

ส่วนนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า มาตรการประกันรายได้ช่วยแก้ความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และเกษตรกรสวนยาง ถือบัตรสีเขียวที่มีเอกสารสิทธิได้ประโยชน์เท่านั้น ในส่วนเกษตรกรถือบัตรสีชมพู ปลูกยางในที่ป่าเสื่อมโทรม มีใบภาษีบำรุงท้องที่ หรือภทบ.จำนวนมากกว่า3.5ล้านไร่ 3แสนราย กลับไม่เคยเข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐ แต่ขายยางทุกกิโลกรัมละ2บาท จ่ายค่าภาษีเซส (ค่าธรรมเนียมส่งออกยาง)ให้รัฐ ที่พ่อค้ามาหักกับเกษตรกร ดังนั้นจะไปยื่นหนังสือเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลต้องหามาตรการอื่นช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ถ้าเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อีอีซี ในส่วนเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ รัฐบาลก็เปิดโอกาสเอกชน และบริษัทต่างชาติ เข้ามาเช่าสิทธิใช้ที่ดินได้ถึง99ปี และได้สิทธิลดภาษีต่างๆพิเศษอีกมาก แต่กับเกษตกรไทย จะช่วยกี่ครั้งฝนไม่เคยตกทั่วฟ้า พวกเราน้อยใจกันมาตลอด

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
ยูเนี่ยนแพน ฯ จับมือ 3 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ Power Buy-ไทวัสดุ-BnB Home ลดท้าร้อน Summer Sale ในงาน “Furniture Expo”
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
ค็อกพิทพร้อมให้บริการและดูแลรักษายางสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รุก 16 สาขาหลัก มอบประสบการณ์สุดประทับใจ รองรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตต่อเนื่อง
1 Minute
การตลาด เศรษฐกิจ โรงแรม
SHR เผยผลประกอบการไตรมาส 1 โต 8% เดินหน้าพัฒนาแบรนด์ SAii ปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ ผลักดันรายได้รวมตั้งเป้า 11,000 ล้านบาท พร้อมกำไรสุทธิโตต่อเนื่อง
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
เริ่มแล้ว! PET EXPO THAILAND 2024 “เอ็น.ซี.ซี.ฯ” ระดมพันธมิตรยกทัพสินค้า เอาใจคนรักสัตว์ มั่นใจเงินสะพัดในงานกว่า 1,000 ล้านบาท