“ คณะองคมนตรี” ลงติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ขอให้ทุกภาคส่วนน้อมนำพระราชกระแสในหลวง ดูแลช่วยเหลือประชาชนผ่านพ้นภัยแล้งใช้ชีวิตได้ปกติ

“คณะองคมนตรี” ลงติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ขอให้ทุกภาคส่วนน้อมนำพระราชกระแสในหลวง ดูแลช่วยเหลือประชาชนผ่านพ้นภัยแล้งใช้ชีวิตได้ปกติ

เร่งพัฒนาแก้มลิง11แห่งสองฝั่งแม่น้ำชี แล้วเสร็จโดยเร็วรองรับท่วมแล้งภาคอีสาน สนก.เตือนเขื่อนน้ำน้อยวิกฤติ19แห่ง เขื่อนอุบลรัตน์ -2% เขื่อนป่าสัก เหลือ3%

 

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน เปิดเผยว่านายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี พร้อมคณะ เดินทางมาประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ และรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำเขื่อนลำปาว โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวต้อนรับ มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

“คณะองคมนตรีขอให้ทุกภาคส่วนน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ แก้มลิง 11 แห่ง 2 ฝั่งลำน้ำชี ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชี รวมถึงมุ่งเน้นการวางแผนเผชิญเหตุและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคถึงระดับครัวเรือน การดูแลแหล่งกักเก็บน้ำในระดับหมู่บ้าน ทั้งการขุดลอกคูคลองและสระน้ำ อีกทั้งประสานจัดทำฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด”นายศักดิ์ศิริ กล่าว

พร้อมกับได้รายงานสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว ซึ่งมีความจุเก็บกัก 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน (21 ส.ค. 62) มีปริมาณน้ำ 407 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 20 ของความจุเก็บกัก น้ำใช้การได้ 307 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุเก็บกัก มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 4 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำและระบายน้ำประมาณวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว ในช่วงฤดูฝน 2562 คาดการณ์จาก Inflow ของปี 2536 ซึ่งมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปัจจุบันว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 จะมีปริมาณน้ำคงเหลือประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของความจุเก็บกัก ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศได้ตลอดจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ได้มีมาตรการและการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนลำปาวฤดูแล้ง ปี 2562/63 กรณีสถานการณ์น้ำน้อยที่สุด ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศในฤดูแล้ง การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน เพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม การปรับลดการระบายน้ำ ควบคุมระดับเก็บกักหากมีปริมาณคงเหลือ 400 ล้าน ลบ.ม. จำเป็นต้องงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งนี้ได้นำเครื่องสูบน้ำจำนวน 22 เครื่องเข้าไปติดตั้งในจุดที่คาดว่าจะเกิดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำจากการงดส่งน้ำของเขื่อนลำปาว ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการควบคุม ติดตามให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในกิจกรรมที่จำเป็นได้จนถึงฤดูแล้งหน้า

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สนก.)เตือนปริมาณน้ำเขื่อน มีน้ำใช้การน้อยวิกฤติ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์(-2%),เขื่อนจุฬาภรณ์(2%),เขื่อนป่าสักฯ(3%),เขื่อนคลองสียัด(5%),เขื่อนภูมิพล(6%),เขื่อนลำนางรอง(9%),เขื่อนกระเสียว(9%),เขื่อนลำพระเพลิง(11%),เขื่อนสิริกิติ์(11%),เขื่อนทับเสลา(12%),เขื่อนแควน้อย(13%),เขื่อนลำปาว(16%),เขื่อนสิรินธร(16%),เขื่อนมูลบน(16%),เขื่อนแม่กวง(18%),เขื่อนลำแซะ(18%),เขื่อนห้วยหลวง(19%),เขื่อนน้ำพุง(19%)

 

You May Have Missed!

1 Minute
สหกรณ์
ช.ส.ค. ประชุมใหญ่ 67 จัดเลือกตั้งกรรมการพร้อมแจงผลการดำเนินงาน
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 “แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์” หาดสมิหลา จ.สงขลา
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู ดิจิทัล ร่วมเสริมศักยภาพ ททท. อัปสกิลดิจิทัลผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว พัฒนาหลักสูตร “การบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง” รุ่นที่ 5 ปี 2567
2 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เกษตร
 อะกริเทคนิก้า เอเชีย และฮอร์ติ เอเชีย และผู้นำภาคอุตสาหกรรมการเกษตรพร้อมขับเคลื่อนเพื่อการเกษตรยั่งยืนในอนาคต