“รมว.เกษตรฯร่วมถก มหาดไทย กระทรวงทรัพย์ รับมือสภาวะน้ำน้อยสุด งดส่งน้ำทำนาปรัง จำกัดน้ำไว้กินใช้ช่วงฤดูแล้งถึงเม.ย.ปี63 ระบายน้ำ4เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา เพียงวันละ18ล้านลบ.ม.ผนึกกำลัง ทุกหน่วยงานวางแผนเผชิญเหตุแก้ไขภัยแล้งยาวนาน”

“รมว.เกษตรฯร่วมถก มหาดไทย กระทรวงทรัพย์ รับมือสภาวะน้ำน้อยสุด งดส่งน้ำทำนาปรัง จำกัดน้ำไว้กินใช้ช่วงฤดูแล้งถึงเม.ย.ปี63

ระบายน้ำ4เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา เพียงวันละ18ล้านลบ.ม.ผนึกกำลัง ทุกหน่วยงานวางแผนเผชิญเหตุแก้ไขภัยแล้งยาวนาน”

 

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.62  นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมเตรียมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมุ่งเน้นการวางแผนเผชิญเหตุและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคถึงระดับครัวเรือน การเชื่อมโยงการบริหารจัดการการน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ การดูแลแหล่งกักเก็บน้ำในระดับหมู่บ้าน ทั้งการขุดลอกคูคลองและสระน้ำ การกำจัดวัชพืชและโคลนตมในคลองส่งน้ำ การจัดหาภาชนะกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ประจำครัวเรือน รวมถึงการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้รายงานการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง ในช่วงฤดูฝน 2562 โดยได้คาดการณ์จาก Inflow น้ำไหลเข้า ของปี 2558 ซึ่งมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปัจจุบันว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 19,342 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41% ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 13,052 ล้าน ลบ.ม. และจากการณ์คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณ 4,149 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาณน้ำใช้การณ์ 1,923.22 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ได้มีมาตรการและการวางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 กรณีสถานการณ์น้ำน้อยที่สุด ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1) การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคฤดูแล้ง 2) การจัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศฤดูแล้ง 3) การสำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน เพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 4) การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และ 5) การจัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม

สำหรับฤดูแล้งปี 2562/63 (เดือนพฤศจิกายน 2562 – เมษายน 2563) ปริมาณน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จัดสรรให้กับทั้ง 3 กิจกรรมหลัก คือ อุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ และเกษตรต่อเนื่อง อ้อย และอื่น ๆ วันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำให้ใช้เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงจำเป็นต้องงดส่งน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งนี้ การจัดสรรน้ำจึงจำเป็นต้องพิจารณาความต้องการปริมาณน้ำต่ำสุดในกิจกรรมการใช้น้ำประเภทต่าง ๆ และควบคุมการระบายน้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด คือวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการควบคุม ติดตามให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ และสามารถทำให้มีน้ำใช้ในกิจกรรมที่จำเป็นได้ตลอดจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถส่งน้ำเพาะปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งได้ มีทั้งหมด 18 เขื่อน คือ ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนแม่งัดฯ เขื่อนแม่กวงฯ เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนแม่มอก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ และเขื่อนลำนางรอง ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา และเขื่อนป่าสักฯ

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีกรอบมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ได้แก่

  • 1) การจ้างแรงงานชลประทาน
  • 2) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เช่น การปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้ง สร้างการรับรู้ผ่านสื่อ แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ แนวทางการบริหารจัดการน้ำ การช่วยเหลือ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดในการการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย
  • 3) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เช่น ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวง และสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ