“เฉลิมชัย งัดมาตรการหยุดเลือดไหลชาวสวนยางขายขาดทุนกว่า5ปี ลุยประกันราคายางแผ่นดิบชั้นสาม 60บาทต่อกก.จ่ายชดเชย25ไร่ต่อราย ช่วยต่อลมหายใจเกษตรกรสวนยาง 1.43ล้านราย”

“เฉลิมชัย งัดมาตรการหยุดเลือดไหลชาวสวนยางขายขาดทุนกว่า5ปี

ลุยประกันราคายางแผ่นดิบชั้นสาม 60บาทต่อกก.

จ่ายชดเชย25ไร่ต่อราย ช่วยต่อลมหายใจเกษตรกรสวนยาง 1.43ล้านราย”

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.นายสุนทร รักษ์รงค์ โฆษกคณะอนุกรรมมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องปาล์ม และยางพารา สภาผู้แทนราษฏร และนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้  เปิดเผยว่าในการประชุมคณะทำงานประกันรายได้เกษตรกร โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ3โลร้อย ซึ่งรมว.เกษตรฯมีความตั้งใจจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกรมานานกว่า5ปี ขายยางขาดทุน จึงใช้มาตรการเร่งด่วนยกระดับราคายาง60บาทต่อกก.ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางไม่เกิน 25ไร่ต่อราย จากฐานคิดคำนวน ผลผลิต250กก.ต่อไร่ ต่อปี ซึ่งตั้งต้นที่ราคายางแผ่นดิบชั้นสาม60บาทต่อกก.และมาประเมินราคา น้ำยางดิบ ยางก้อนถ้วย ใช้เกณฑ์ตามหลักวิชาการ อ้างอิงราคากลางของตลาดกลางมี6แห่งทั่วประเทศ ของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) โดยคิดคำนวนส่วนต่างจะชดเชยให้เกษตรกรให้ถึง60บาทโอนเข้าบัญชีโดยตรงซึ่งยางทั้ง3ชนิดเป็นยางที่อยู่ในมือเกษตรกร ไม่อยู่กับพ่อค้าคนกลางจึงไม่อ้างอิงราคายางแผ่นรมควันชั้นสาม

นายสุนทร กล่าวว่าวันพุทธที่21 ส.ค.นี้นายเฉลิมชัย จะประชุมคณะทำงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร จะกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการประกันราคา ต่อจากนั้นเชิญ3ฝ่ายมาสรุปร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกรสวนยาง เพื่อกำหนดราคาชดเชยในทุก3-6เดือน หรือทุก1เดือน

“รมว.เกษตรฯได้สั่งเดินหน้ามาตรการดูดซับยางออกจากตลาดให้ได้เป้าหมาย1ล้านตัน โดยเร็วจากผลผลิตยางพารา5ล้านตันต่อปี เมื่อดึงไปแปรรูป 1ล้านตันเท่ากับหายไป20% ทำให้ราคายางมีโอกาสแตะ60บาท ถ้ารัฐทำได้ ไม่ต้องเอาภาษีประชาชนมาชดเชยราคาแม้แต่บาทเดียว ถ้าทำทุกวิธีทางราคาไม่ขึ้น ระยะห่างจะมากขึ้น ราคาประกัน กับราคาจริง เป็นการพิสูจน์ว่าไม่มีฝีมือ ทำให้รัฐ ต้องนำเงินมาชดเชยเยอะขึ้น  รมว.เกษตรฯจึงขอเกษตรกรให้เวลารัฐบาลพิสูจน์ตัวเองทำราคาขึ้นได้หรือไม่ ” นายสุนทร กล่าว

นอกจากนี้ในส่วนการชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรสวนยาง ยังไม่ตกผลึกเรื่องพื้นที่และจำนวนเกษตรกร เพราะพี่น้องสวนยาง มีทั้งที่มีเอกสารสิทธิ และไม่มีเอกสารสิทธิ มีข้อให้เสนอดูแลทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกรบัตรสีเขียว มีเอกสารสิทธิ จำนวน 1.4ล้านราย ในพื้นที่ 15ล้านไร่ และไม่มีเอกสารสิทธิ3แสนราย พื้นที่5 ล้านไร่ โดยรูปแบบจะชดเชยสวนยาง มีอายุ7ปี เปิดกรีดแล้ว

นายสุนทร กล่าวว่าโครงการประกันรายได้ยางพารา หลายคนไม่เข้าใจเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารเรื่องโครงการประกันรายได้ ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ว่าการประกันรายได้ คือการแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อประกันว่าพี่น้องเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายยางที่ 60 บาทอย่างแน่นอน ไม่ต้องซื้อยางเข้าสต๊อคแล้วเกิดปัญหามีความไม่โปร่งใส เหมือนโครงการแทรกแซงราคายางที่ผ่านมา

การประกันรายได้ ถ้ามีการชดเชยก็ต้องจ่ายเจ้าของสวนแบ่งกับคนกรีดยาง 60:40 เงินโอนโดยตรงไปยังบัญชีของเกษตรกร ใครก็กินหัวคิวไม่ได้ และกำลังพยายามหาวิธีการให้พี่น้องชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ได้เข้าร่วมโครงการด้วย คือฝนต้องตกทั่วฟ้า เพราะชาวสวนยางชายขอบกลุ่มนี้ก็จ่ายค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง(cess) กิโลกรัมละ 2 บาทเหมือนกัน

ยกตัวอย่างรายละเอียดวิธีการของโครงการประกันรายได้ ไม่ต้องเอายางไปขาย แค่มีสวนยางที่เปิดกรีดแล้วและขึ้นทะเบียนกับ กยท.โดยชดเชยไม่เกิน 25 ไร่ ส่วนรายละเอียดขึ้นอยู่กับข้อตกลง 3 ฝ่ายคือ เกษตรกร รัฐบาล และภาคเอกชน ว่าจะกำหนดอย่างไร เช่น จ่ายทุกๆ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งใช้ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อ้างอิง แล้วคำนวณกลับมาเป็นราคาน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยตามหลักวิชาการ ใช้เกณฑ์ผลผลิตยาง 250 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีมาคำนวณเงินชดเชย สมมติถ้าถัวเฉลี่ยราคายาง 40 บาท ก็จ่ายชดเชย 20 บาท สมมติมี 10 ไร่ วิธีการคือ 20 บาท×10 ไร่×250 กก/ไร่/ปี =50,000 บาท/ปี ทั้งนี้มีความจริงที่อยากพูด คือไม่มีเกษตรกรคนใดอยากได้เงินชดเชยจากการเบียดบังเอาภาษีคนอื่นมาใช้หรอก ทุกคนอยากขายยางได้ที่ราคาเกิน 60 กันทั้งนั้น และรัฐบาลก็ไม่อยากทำกับวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน แต่จะทำไงได้ พี่น้องชาวสวนยางเดือดร้อนจากการขายยางขาดทุนมา 5 ปีเต็ม และวิกฤตยางพาราไทยที่ผ่านมา ใช้เวลาแก้ปัญหากันมา 50 ปี ก็ยังไปไม่ถึงไหน จะให้บอกพี่น้องว่ารอนะ ช่วยอดทนและทนอด ตอนนี้รัฐบาลกำลังจะทำให้ราคายางสูงขึ้น สบายใจได้นะ คงไม่มีใครทนรอ

“แต่สิ่งที่รัฐบาลและรมว.เกษตรฯกำลังทำคือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยทำทุกวิธีการเพื่อให้ราคายางสูงขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้ได้ 1 ล้านตันต่อปี เช่น การทำถนนยางพารา การแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าและวิธีการอื่น ควบคู่กับคำสัญญาว่า ถ้ารัฐบาลพยายามทำราคายางให้สูงแล้ว ราคายางยังไม่ถึง 60 บาท รัฐบาลก็จะจ่ายชดเชยตามโครงการประกันรายได้ อย่างน้อยสุดก็ยุติการขายยางขาดทุนลงชั่วคราว เพื่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางที่ดีกว่า 5 ปีที่ผ่านมา โครงการประกันรายได้ จึงเป็นนโยบายที่ท้าทายรัฐบาลว่ามีฝีมือทำให้ราคายางสูงกว่า 60 บาทหรือไม่ ถ้าทำได้ก็ไม่ต้องเอาภาษีของชาติมาชดเชยให้ใครแม้แต่บาทเดียว ก็แฟร์ๆดี “ นายสุนทร กล่าว