รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำส่วนราชการและประชาชนชาวอำเภอสะเดา เดินเท้ารณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกระหว่างประเทศ ชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรคและตัดวงจรชีวิตยุงลายไม่ให้มีการแพร่ระบาด

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำส่วนราชการและประชาชนชาวอำเภอสะเดา เดินเท้ารณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกระหว่างประเทศ ชายแดนไทย-มาเลเซีย

เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรคและตัดวงจรชีวิตยุงลายไม่ให้มีการแพร่ระบาด

จากสถิติของผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในจังหวัดสงขลา ตามรายงานเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 19 กันยายน 2566 พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,510 ราย และเสียชีวิตแล้ว 5 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคืออายุ 5 – 9 ปี รองลงมาอายุ 10-14 ปี และอายุ 15 – 24 ปี ส่วนอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ อำเภอสะเดา จำนวน 733 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต รองลงมาคือ อำเภอเมืองสงขลา และอำเภอหาดใหญ่

ในช่วงเช้าวันนี้ (23 ก.ย. 66) ณ ด่านพรมแดนสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ควบคุมโรคไข้เลือดออกระหว่างประเทศ ชายแดนไทย-มาเลเซีย (สงขลา – เคดาห์) เพื่อร่วมสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ทำให้ปัญหาโรคไข้เลือดออกตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศได้รับการแก้ไขและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีนายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายบารุนฮีชำ บิน ฮาย สุไรมาน นายอำเภอกูบังปาซู นายสุรินทร์ สุริยะวงศ์ นายอำเภอสะเดา พร้อมด้วยส่วนราชการ ผู้บริหารจากรัฐเคดาห์ ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วม

โอกาสนี้ นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวเน้นย้ำ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนทั้ง 2 ประเทศ ช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการกำจัดยุงตัวแก่ในพื้นที่ระบาด และป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ที่สำคัญคือทุกคนจะต้องเฝ้าระวังและช่วยค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ต้องรีบไปพบแพทย์ ไม่ซื้อยามารับประทานเอง เพราะไข้เลือดออกหากอาการรุนแรง หรือได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการเดินเท้ารณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก การสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ รวมถึงการจัดบูธนิทรรศการ Dengue Corner ค้นหาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และจัดทำสื่อสารประชาสัมพันธ์ ภายใต้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค และ 7 ร. คือเก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก, เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่, เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน โรงเรียน และวัด เช่น ขวด กระป๋องให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ภาพ/ข่าว อ้อม มณีรัตน์ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสงขลา