ชป.พร้อมบริหารจัดการน้ำในทุกสถานการณ์

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต หลังตอนบนของประเทศมีปริมาณฝนลดลง

พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนภาคใต้ เดินหน้ารับมือและช่วยเหลือทุกพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ทำให้ในระยะนี้ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนลดน้อยลง ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ปัจจุบัน(20ส.ค.64)อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 36,304 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 12,762 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,280 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,584 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้อย ในขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 13.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.47 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณฝนที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าและน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำลดน้อยลงไปด้วย จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ได้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวนาปีรอบแรกแล้ว ให้งดทำนาต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตรจะเสียหาย เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้เพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น นั้น ได้กำชับโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที ตลอดจนร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัดในการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มาที่สุด

กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในทุกสถานการณ์อย่างเต็มความสามารถ พร้อมช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร1460 ได้ตลอดเวลา